กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เชิญผู้แทนเครือข่ายความปลอดภัยในการทำงาน เข้าหารือชี้แจงนโยบายด้านความปลอดภัย พร้อมกำหนดทิศทางการทำงานแบบบูรณาการความร่วมมือกับเครือข่าย
นายวิวัฒน์ ตังหงส์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2562 กสร.จะมุ่งเน้นการบังคับใช้กฎหมายความปลอดภัยในการทำงานอย่างจริงจังและร่วมกับภาคีเครือข่ายในการสร้างการรับรู้แก่นายจ้าง ลูกจ้าง และผู้เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เครือข่ายด้านความปลอดภัยในการทำงานมีสมาคมและชมรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานอยู่ทั่วประเทศทำให้สามารถเข้าถึงแรงงานกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรงและเป็นวงกว้างจึงถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น กสร. จึงได้เชิญเครือข่ายความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งประกอบด้วย
- ผู้แทนจากสมาคมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (ประเทศไทย)
- ผู้แทนชมรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ภาคกลาง และภูมิภาค
เข้าหารือเพื่อชี้แจงนโยบายในการขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยในการทำงาน ในปีงบประมาณ 2562 และร่วมกันกำหนดทิศทางการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับเครือข่ายเพื่อให้ภารกิจ ที่สำคัญและงานเร่งด่วนตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยเฉพาะงานขับเคลื่อนนโยบาย Safety Thailand ให้เกิดผลสัมฤทธิ์และสามารถขยายผลให้เกิดความสำเร็จสู่กลุ่มเป้าหมายได้อย่างทั่วถึง
นายวิวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า สมาคม/ชมรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน จะทำหน้าที่เป็น ผู้ประสานความร่วมมือระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ ในรูปแบบประชารัฐเพื่อร่วมกันสร้างการรับรู้ ข้อกฎหมายและแนวปฏิบัติที่ถูกต้องแก่นายจ้าง ลูกจ้าง สถานประกอบกิจการ ตลอดจนร่วมกันเฝ้าระวัง ความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อลดอัตราการประสบอันตรายและร่วมสร้างคุณภาพชีวิตและสุขภาพอนามัย ที่ดีให้แก่แรงงานได้อย่างยั่งยืน
รมว.เเรงงาน เชิญมหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลเพิ่ม หลังเรียกร้องตัดข้อ 13 (4) ร่างกฎหมาย จป.วิชาชีพ สั่งการ อธิบดี กสร. นำไปพิจารณาภายใน 2 สัปดาห์ ด้านผู้เเทนสถาบันศึกษายันบัณฑิตจบมาเพียงพอ เเนะทางเลือกสถานประกอบการส่งลูกจ้างเรียนทางไกลหลักสูตรอาชีวอนามัยฯ กับ มสธ.
วันที่ 18 ต.ค. 2561 ที่กระทรวงแรงงาน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เชิญผู้แทนของมหาวิทยาลัยเข้าพบ เพื่อพูดคุย หารือ และรับฟังความคิดเห็น เกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคลเพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. ... ประเด็น คุณสมบัติของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ (จป.วิชาชีพ) ภายหลังมหาวิทยาลัย เรียกร้องให้ตัดข้อ 13 (4) ที่เปิดโอกาสให้ผู้จบสาขาใดก็ได้ สามารถเป็น จป.วิชาชีพได้ โดยไม่ต้องจบหลักสูตรอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
รศ.ดร.สสิธร เทพตระการพร คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศราwww.isranews.org ภายหลังการเข้าพบ รมว.แรงงาน ว่า พล.ต.อ.อดุลย์ ค่อนข้างเปิดรับฟังข้อมูลและเข้าใจประเด็นที่มหาวิทยาลัยเรียกร้องร่วมกัน โดยได้สั่งการให้อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) นำข้อเสนอที่ได้รับไปพิจารณาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม หลังจากประชุมเสร็จ ผู้แทนของมหาวิทยาลัยได้พูดคุยหารือกันต่อร่วมกับที่ปรึกษา รมว.แรงงาน ในประเด็นหลักถึงเหตุผลต้องรวมตัวคัดค้านให้มีข้อ 13 (4) ในร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว
“เราไม่ได้กังวลบัณฑิตที่จบมาจะตกงาน แต่สิ่งที่กังวลคือ การเปิดช่องมีข้อ 13 (4) ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม ดังนั้น เราจะไม่ให้เกิดความเสี่ยงนี้ขึ้น”
คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มธ. กล่าวต่อว่า ในอดีตเปิดโอกาสให้บัณฑิตทุกสาขาเป็น จป.วิชาชีพได้ เพราะมหาวิทยาลัยผลิตไม่เพียงพอ แต่ปัจจุบันยืนยันว่า เพียงพอ โดยข้อมูลจาก กสร. เมื่อ 8 ต.ค. 2561 แสดงจำนวนสถานประกอบการทุกประเภทกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป ต้องมี จป.วิชาชีพตามกฎหมาย ทั้งสิ้น 15,357 แห่ง ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า ได้มีบัณฑิตจบหลักสูตรเฉพาะทางจากมหาวิทยาลัย 26 แห่ง 20,577 คน (ข้อมูล ณ 30 ก.ย. 2561) จะเห็นว่า เกิดเป้าหมายที่กำหนดไว้แล้ว
“ในอนาคตยังมีแผนปี พ.ศ. 2561-64 ระยะ 5 ปี ในการเตรียมผลิตบัณฑิต จากเดิมที่มีมหาวิทยาลัย 26 แห่ง เป็น 28 แห่ง คาดว่าจะสามารถผลิตบัณฑิตได้ 10,834 คน ส่วนสถานประกอบการขนาดเล็กขาด จป.วิชาชีพ มีจำนวนเท่าไหร่นั้น ยังไม่ได้รับข้อมูล” รศ.ดร.สสิธร กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สภาคณบดีคณะสาธารณสุขแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่เปิดทำการหลักสูตรระดับปริญญาตรี วิชาเอกอาชีวอนามัยและความปลอดภัย มีข้อเสนอในที่ประชุมในครั้งนี้ด้วยว่ากระทรวงแรงงานต้องรักษาไว้ซึ่งมาตรฐานการให้ความคุ้มครองลูกจ้าง ด้วยการคงไว้ซึ่งผู้ที่จะเป็น จป.วิชาชีพ ต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ทางอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ส่วน กสร.ต้องศึกษาถึงสาเหตุที่แท้จริงที่สถานประกอบการไม่สามารถว่าจ้างผู้ที่จะเป็น จป.วิชาชีพได้ และสภาคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ฯ และมหาวิทยาลัยต่างๆ ยินดีที่จะร่วมมือกับ กสร. ในการทำโครงการความร่วมมือการผลิตบัณฑิตทางด้านนี้ให้กับสถานประกอบการที่มีปัญหาไม่สามารถหาผู้ที่จะมาเป็นจป.วิชาชีพ และเห็นว่า สถานประกอบการยังมีทางเลือกที่สามารถส่งลูกจ้างเข้าศึกษาต่อวิชาเอกด้านนี้ผ่านระบบการศึกษาทางไกลของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ได้ .
รมว.แรงงาน เปิดงานและร่วมเป็นสักขีพยานพิธีลงนาม MOU “การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยสู่สถานศึกษา”สถานศึกษาปลอดภัย ประจำปี 2561 มอบรางวัลสถานศึกษาที่ผ่านเกณฑ์ 566 แห่ง ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา และภาครัฐร่วมลงนามความร่วมมือ สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยสู่สถานศึกษา ขับเคลื่อนนโยบาย Safety Thailand ไปสู่การปฏิบัติ
เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2561 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดงานและร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ“การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยสู่สถานศึกษา”และมอบโล่รางวัลดีเด่น สถานศึกษาปลอดภัย ประจำปี 2561 จำนวน 566 แห่ง ณ ห้องประชุมจอมพล ป.พิบูลสงคราม ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยกล่าวว่า กระทรวงแรงงานให้ความสำคัญกับการดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานโดยการขับเคลื่อนนโยบาย Safety Thailand เป็นนโยบายเน้นหนักของกระทรวง มีเป้าหมายในการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยเชิงป้องกัน และลดการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน โดยการสร้างความตระหนักรู้ปลูกจิตสำนึกด้านความปลอดภัย รวมถึงการพัฒนาพฤติกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดภาวะเสี่ยงอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ โดยการเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนในสถานศึกษาให้มีความรู้ ความเข้าใจ และเกิดความตระหนักเกี่ยวกับความปลอดภัยก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ผ่านกิจกรรมสถานศึกษาปลอดภัย
พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีสถานศึกษาเข้าร่วมแล้วกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ ครอบคลุมนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา 1,275,638 คน ซึ่งในวันนี้ได้มอบรางวัลให้กับสถานศึกษาที่ผ่านเกณฑ์จำนวน 566 แห่ง ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อนักเรียน นักศึกษา ตลอดจน ครู อาจารย์ และบุคลากรของสถานศึกษา ที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านความปลอดภัยเกิดวัฒนธรรมความปลอดภัยเชิงป้องกันอย่างมั่นคงและยั่งยืนในสถานศึกษา ตลอดจนบรรลุวาระแห่งชาติ ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้“แรงงานปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดี” ต่อไป
ทั้งนี้ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ“การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย สู่สถานศึกษา”เป็นความร่วมมือระหว่าง 9 หน่วยงาน ได้แก่
- กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
- สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
- สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
- สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
- สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
- สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย
- สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย
- สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย
- กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน
เพื่อร่วมกันสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยสู่สถานศึกษาและขับเคลื่อนนโยบาย Safety Thailand ไปสู่การปฏิบัติต่อไป